สาระน่ารู้

ฟิลเตอร์ดรายเออร์คืออะไร?

สร้างเมื่อ: วันศุกร์, 26 มกราคม 2561

ฟิลเตอร์ดรายเออร์ (Filter drier) เป็นกระบอกกลมๆ บ้างก็มีสีฟ้าๆ เขียวๆ ไม่ก็เป็นกระบอกทองแดงเลย จะถูกติดตั้งอยู่ที่ท่อลิควิด หรือท่อดูดของเครื่องปรับอากาศหรือคอนเดนซิ่งยูนิต  (แอร์สมัยใหม่ที่เป็นระบบท่อบานแฟร์จะฝังฟิลเตอร์ดรายเออร์ไว้ในคอนเดนซิ่งแล้ว) ฟิลเตอร์ดรายเออร์เป็นตัวกรองความชื้น หรือสิ่งสกปรกที่ติดมากับน้ำยาแอร์  มีหน้าที่กรองฝุ่นผง สิ่งสกปรก พร้อมดูดความชื้นในระบบที่หลงเหลือไม่ให้ผ่านเข้าไปอุดตันที่เอกซ์แพนชั่นวาล์ว ไส้ในของฟิลเตอร์ดรายเออร์จะประกอบไปด้วยสารต่างๆ เช่น ซิลิกาเจล (Silica gel) , แคลเซียมซัลเฟต (Calcium sulphate) , อลูมินาเจล (Alumina gel) เป็นต้น

filter-drier

เวลาช่างแอร์ซ่อมแอร์ เปลี่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์ มักจะเปลี่ยนตัวฟิลเตอร์ดรายเออร์นี้ด้วย โดยเฉพาะแอร์เก่าพอสมควร เนื่องจากหากคอมเพรสเซอร์เสียโดยสาเหตุช็อตไหม้ที่ขดลวดภายใน ตัวกรองน้ำยาหรือฟิลเตอร์ดรายเออร์นี้ก็จะสกปรก คล้ายๆเวลาเราเปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถยนต์ก็ต้องเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องด้วยฉันนั้น ยกเว้นกรณีเปลี่ยนคอมเนื่องจากหัวหลักคอมไหม้ก็อาจจะยังไม่ต้องเปลี่ยนตัวดรายเออร์

ฟิลเตอร์ดรายเออร์มีทั้งแบบเชื่อมและแบบแฟลร์ คือใช้งานโดยการเชื่อมทองแดงเพื่อติดตั้ง หรือแบบบานแฟลร์ขันใส่เข้ากับนัทอีกทางนึง ฟิลเตอร์ดรายเออร์ช่างแอร์นิยมเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าดรายเออร์ , ไดเออร์ , ไดรเออร์ มีหลายยี่ห้อ เช่น EMERSON , SP

วิธีเรียกดู Error Code แอร์ Saijo Denki ระบบ Inverter

สร้างเมื่อ: วันจันทร์, 15 มกราคม 2561

วิธีเรียกดู Error Code แอร์ Saijo Denki ระบบ Inverter เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น เราสามารถตรวจดูสาเหตุได้ทันที โดยทำตามขั้นตอนนี้

1. กดรีโมทเพื่อปิดแอร์

2. กดปุ่ม CLR 4 ครั้งติดๆกันภายใน 3 วินาที

3. ดู Error Code ที่หน้ากากเครื่องเพื่อทราบสาเหตุ ง่ายต่อการซ่อมแซม

4. หรือดู Error Code ที่แอพพลิเคชั่นในมือถือ

วิธีเรียกดู Error Code แอร์ Saijo Denki ระบบ Inverter

ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=app.saijo.saijo_denki_intelligent_inverter&hl=th

Error Code แอร์ Saijo Denki ระบบ Inverter

 

ชนิดของคอมเพรสเซอร์

สร้างเมื่อ: วันจันทร์, 15 มกราคม 2561

คอมเพรสเซอร์

เราสามารถแยกชนิดของคอมเพรสเซอร์ได้หลายแบบ 

แยกตามวิธีการอัด เช่น

  • bullet blue แบบโรตารี่ (Rotary Compressor)
  • bullet blue แบบลูกสูบ (Reciprocating Compressor)
  • bullet blue แบบสโครล (Scroll Compressor)

 

แยกตามลักษณะภายนอก เช่น

  • bullet blue แบบปิดสนิท (Hermetic Compressor)
  • bullet blue แบบกึ่งปิดสนิท (Semi Hermetic Compressor)
  • bullet blue แบบเปิด (Open Type)

 

หลังจากรู้จักหน้าที่ของคอมเพรสเซอร์แล้ว ทีนี้เราจะมาพูดถึงชนิดของคอมเพรสเซอร์ โดยแบ่งตามวิธีการอัดแก๊สหรือน้ำยา โดยทั่วไปเครื่องปรับอากาศภายในบ้านหรือที่พักอาศัยมักนิยมใช้คอมเพรสเซอร์ 3 รูปแบบนี้ ได้แก่ แบบโรตารี่ แบบลูกสูบ และแบบสโกรล เนื่องจากเป็นที่นิยม ราคาไม่แพง ระบบไม่ซับซ้อนมาก ช่างแอร์ทั่วไปสามารถเข้าใจวงจระบบไฟฟ้าและการต่อสายไฟได้ไม่ยาก

คอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ (Rotary Compressor)

คอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่

คอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่จะดูดและอัดน้ำยาในสถานะแก๊ส โดยอาศัยการกวาดตัวตามแกนโรเตอร์ (rotor) เนื่องจากคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่นี้มีขีดจำกัดในการทำงาน คือจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และกินไฟน้อย จะต้องใช้กับเครื่องปรับอากาศขนาดความเย็นไม่เกิน 1-3 ตัน แต่ถ้าขนาดความเย็นใหญ่กว่านี้แล้วก็จะทำงานไม่สู้ดีนัก

คอมเพรสเซอร์แบบนี้คนไทยเรารู้จักกันดียี่ห้อนึงคือ คอมมิตซูบิชิ หรือเรียกกันสั้นๆว่า คอมมิตซู ผลิตโดยบริษัท สยามคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรม จำกัด หรือ Siam Compressor Industry (SCI) นอกจากนี้ยังมีคอมเพรสเซอร์ยี่ห้ออื่นๆ ด้วยอย่างเช่น คอมแอลจี LG , คอมไดกิ้น DAIKIN เป็นต้น

เนื่องจากคอมเพรสเซอร์ชนิดนี้ ผู้ผลิตนำมาใส่ในเครื่องปรับอากาศยุคแรกๆ พอๆกับคอมแบบลูกสูบ จึงทำให้เป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะที่ใช้กับน้ำยา R-22 ก็ยังเป็นสัดส่วนที่ใช้กันอย่างมากที่สุด เนื่องจากช่างแอร์เปลี่ยนง่าย ราคาไม่แพง เป็นคอมที่ประหยัดไฟที่สุดเมื่อเทียบกับรูปแบบอื่นๆ หากช่างแอร์ที่เริ่มจะฝึกงานล้างแอร์ซ่อมแอร์ใหม่ๆ ต้องผ่านการเชื่อม ทดสอบการเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์กับคอมตัวนี้มาก่อนทั้งนั้น ถ้าทำได้สำเร็จก็จะถือว่าออกภาคสนามได้

 

คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ (Reciprocating Compressor)

คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ

คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบนี้จะมีหลักการทำงานคล้ายๆ กับระบบลูกสูบในรถยนต์ เป็นระบบอัดแบบชักขึ้นชักลง โดยแต่ละกระบอกสูบจะประกอบด้วยชุดของลิ้นทางดูดและทางอัด ซึ่งอยู่ติดกับวาวล์วเพลต (valve plate) ขณะที่ลูกสูบนึงเคลื่อนที่ลงในจังหวัดดูด อีกลูกสูบนึงจะเคลื่อนที่ในจังหวะอัดด้วยเช่นกัน ขณะที่่ลูกสูบเคลื่อนที่ลง (หรือจังหวะดูด) แรงดันของน้ำยาในกระบอกสูบจะลดลงอย่างมาก ลิ้นทางด้านอัดจะถูกปิดโดยแรงอัดของน้ำยาที่อยู่ทางด้านความดันสูง และลิ้นทางด้านดูดจะถูกเปิด ดูดเอาน้ำยาจากทางด้านความดันต่ำผ่านเข้ามาในกระบอกสูบ ขณะที่ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้น (หรือจังหวะอัด) แรงดันของน้ำยาในกระบอกสูบจะถูกอัดตัวสูงขึ้น ลิ้นทางด้านดูดจะถูกปิดตัวด้วยแรงอัดที่สูงขึ้นภายในกระบอกสูบนี้ และลิ้นทางอัดจะเปิดอัดน้ำยาส่งออกไปทางด้านความดันสูงของระบบ

ระบบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ลูกสูบ

ในยุคแรกๆ คอมเพรสเซอร์ชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากมีความทนทานสูง ให้กำลังอัดและความเย็นที่ดี สามารถใช้ได้ตั้งแต่บีทียูน้อยๆ อย่างเช่นตู้เย็น ไปจนถึงแอร์ขนาดหลายสิบตัน ซึ่งคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ไม่สามารถทำความเย็นขนาดนั้นได้ อีกทั้งยังสามาถซ่อมแซมได้ โดยการผ่าออกเพื่อเปลี่ยนหรือพันขดลวดทองแดงใหม่ โดยช่างที่มีความรู้ด้านไฟฟ้าและมอเตอร์สามารถนำมาซ่อมกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่บางครั้งก็มีร้านซ่อมคอมมักง่ายแค่นำคอมไปถ่ายน้ำมันคอมออก เปลี่ยนหัวหลักคอม แล้วพ่นสีใหม่ไปหลอกขายลูกค้าว่าเป็นคอมใหม่ ทำให้เป็นที่มาของคำว่า "คอมบิ้ว" ซึ่งเป็นคอมมือสองแต่หลอกว่าเป็นมือหนึ่ง โดยอาศัยความทนทานของระบบลูกสูบมาหลอกให้ลูกค้าใช้งานได้ต่อไป แตกต่างจากช่างแอร์ดีๆ หรือร้านซ่อมคอมดีๆ ซึ่งจะบอกลูกค้าไปเลยว่าเป็นคอมมือสอง ผ่านการซ่อมหรือไม่ซ่อมอย่างไรไปบ้าง ซึ่งร้านซ่อมคอมดีๆเก่งๆ จะผ่าคอมแล้วเปลี่ยนขดลวดทองแดงใหม่ เติมน้ำมันคอมใหม่ (ใช้ของเดิมเพียงแค่ระบบสปริงและก้านสูบคันชักข้างใน) เสร็จแล้วนำออกมาขายเป็นคอมมือสองคุณภาพมือหนึ่ง ลูกค้าสามารถซื้อมาใช้ได้อย่างสบายใจเพราะแทบไม่ต่างจากคอมใหม่ ร้านในกรุงเทพฯหลายร้านมีฝีมือเก่งๆครับ ที่ผมรู้จักก็เช่นแถวบรรทัดทอง (หลังมาบุญครอง) แถวเกษตร-นวมินทร์ เลียบด่วน เป็นต้น

คอมลูกสูบมีดีตรงที่โครงสร้างแข็งแรงทนทาน อุปกรณ์ภายในแทบไม่สึกหรอ ยกเว้นพวกขดลวดทองแดงที่ช็อตไหม้ตามอายุการใช้งาน สามารถซ่อมแซมได้ แตกต่างจากคอมโรตารี่ที่แทบไม่มีใครรับซ่อม (ซื้อใหม่คุ้มกว่า) แต่ก็อาจมีข้อเสียบ้างคือเสียงดัง และกินไฟมากกว่าระบบอื่นๆ ครับ คอมลูกสูบที่ดังๆ ก็อย่างเช่นยี่ห้อ Bristol (บริสตอล) , Tecumseh (เทคัมเช่) เป็นต้น

 

คอมเพรสเซอร์แบบสโกรล (Scroll Compressor)

คอมเพรสเซอร์แบบสโกรล คอปแลนด์ copeland

เป็นคอมเพรสเซอร์ที่ได้รับการคิดค้นขึ้นมาใหม่โดยการนำเอาข้อดีของคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบและโรตารี่มารวมกัน ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่า 2 แบบแรก การใช้งานคอมเพรสเซอร์แบบสโกรล จะอาศัยความเร็วในการหมุนใบพัดเพื่อทำให้เกิดแรงดันภายในเรือนคอมเพรสเซอร์ ความเร็วที่ปลายใบพัดอาจสูงถึง 850 ฟุต/วินาทีและความเร็วรอบต่ำสุดที่จะสามารถทำงานได้ประมาณ 3450 รอบ/นาที โดยหลักการทำงานจะโดยใช้ใบพัด 2 ชุด (เคลื่อนที่และอยู่กับที่) ขับเคลื่อนโดยการให้เพลาลูกเบี้ยวรูปหน้าตัดเป็นวงกลม บนลูกเบี้ยวจะเจาะเป็นช่องๆเพื่อให้ใบพัดสวมอยู่ได้ ลูกเบี้ยวและใบพัดติดตั้งอยู่ในเรือนคอมเพรสเซอร์ ซึ่งผิวด้านในเป็นวงกลม แต่ตำแหน่งจุดศูนย์กลางของลูกเบี้ยวและเรือนคอมเพรสเซอร์อยู่เยื้องศูนย์กัน โดยระยะที่แคบที่สุดจะเป็นระยะผิวนอกของลูกเบี้ยวสัมผัสผิวภายในเรือนคอมเพรสเซอร์พอดี  ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดอัดและส่งสารทำความเย็นทำได้ดี และทำงานเงียบกว่าชนิดลูกสูบ

หลักการทำงานคอมเพรสเซอร์สโกรล

คอมเพรสเซอร์แบบสโกรลขนาด 1 ถึง 60 แรงม้าเหมาะสำหรับการใช้งานทุกรูปแบบ เช่น ระบบปรับอากาศสำหรับอาคารธุรกิจและที่พักอาศัย ระบบทำความเย็นสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรม และการขนส่งด้วยห้องเย็น ด้วยประสิทธิภาพในการทำความเย็นเหมือนคอมลูกสูบ แต่ประหยัดไฟกว่า ทำให้คอมรูปแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมและมักนำมาใช้กับแอร์ขนาด 3 ตันขึ้นไป ทั้งไฟ 220V. และ 380V. โดยขณะสตาร์ทจะมีการกระชากไฟปานกลางและเสียงดังพอสมควร แต่พอทำงานซักพักเสียงจะเงียบลงเกือบจะเท่าแบบโรตารี่ คอมสโกรล หรือที่บางคนเรียกคอมสกรอล ยี่ห้อที่นิยมในบ้านเราได้แก่ Copeland และนอกจากนี้บริษัท SCI ยังได้ผลิตคอมชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อแข่งขันกันในตลาดอีกด้วย

หน้าที่คอมเพรสเซอร์

สร้างเมื่อ: วันจันทร์, 15 มกราคม 2561

คอมเพรสเซอร์ (Compressor) ในระบบของแอร์หรือเครื่องปรับอากาศ หมายถึงเครื่องอัดน้ำยา หรือตัวปั๊มน้ำยาแอร์นั่นเอง เป็นอุปกรณ์หลักที่สำคัญอันนึงของระบบเครื่องทำความเย็นซึี่งทำหน้าที่ทั้ง ดูด และ อัด น้ำยาแอร์ ในสถานะแก๊ส

ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยได้ให้ความหมายของคำศัพท์ทางวิชาการของคอมเพรสเซอร์ไว้ว่า "เครื่องอัดที่เป็นอุปกรณ์เพิ่มความดันของสารความเย็นที่อยู่ในสภาวะที่เป็นไอ"

โดยหลักการคือคอมเพรสเซอร์จะดูดน้ำยาแอร์ในสถานะที่เป็นฮีตแก๊สความดันต่ำและอุณหภูมิต่ำจากอีวาพอเรเตอร์ (หรือแผงคอยล์เย็น) ผ่านเข้ามาทางท่อซัคชั่น (Suction) เข้าไปยังทางดูดของคอมเพรสเซอร์ แล้วอัดแก๊สนี้ให้มีความดันสูงขึ้นและอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย ส่งเข้าไปยังคอนเดนเซอร์ (แผงคอยล์ร้อน) โดยผ่านทางท่อดิสชาร์จ เพื่อไปกลั่นตัวเป็นของเหลวในคอนเดนเซอร์ด้วยการระบายความร้อนออกจากน้ำยาอีกทีนึง

วงจรการทำงานของระบบแอร์บ้าน

จะเห็นได้ว่าในวงจรเครื่องทำความเย็น คอมเพรสเซอร์เป็นอุปกรณ์ที่แบ่งความดันในระบบระหว่างด้านความดันสูงและความดันต่ำ น้ำยาแอร์ที่ถูกดูดเข้ามาในคอมเพรสเซอร์จะมีสถานะเป็นแก๊สความดันต่ำ และน้ำยาที่อัดส่งจากคอมเพรสเซอร์จะมีสถานะเป็นแก๊สซึ่งมีความดันสูง หลังการล้างแอร์ ช่างล้างแอร์หรือช่างซ่อมแอร์ต้องตรวจดูน้ำยาแอร์ของลูกค้าว่าน้ำยาแอร์พร่องหรือไม่ บางคนคิดว่าน้ำยาแอร์มีสภาพเป็นน้ำหรือของเหลว แต่จริงๆ มันเป็นสารเคมีที่กลายสภาพได้ตามกำลังอัด และสามารถรั่วซึมได้ทั้งตามวาวล์ศร (จุกที่เติมน้ำยา) หรือข้อต่อบานแฟร์ได้ครับ ระบบแอร์ไม่ใช่ระบบปิดที่น้ำยาจะรั่วออกไม่ได้นะครับ อย่าเข้าใจกันผิด

บางทีเคยได้ยินคำว่า มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ บ้างมั้ยครับ เนื่องจากคอมเพรสเซอร์ของตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศตามบ้านเรือน จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน (ก็อยู่ภายในลูกคอมนั่นแหล่ะ) บางครั้งช่างสมัยก่อนจึงเรียกรวมกันว่า มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นความหมายเดียวกันกับคอมเพรสเซอร์แอร์นั่นแหล่ะครับ

ส่วนคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศรถยนต์ จะยึดติดอยู่กับเครื่องยนต์และถูกขับเคลื่อนโดยสายพาน ซึ่งจะมีแมกเนติกคลัตช์ช่วยควบคุมและหยุดคอมเพรสเซอร์ในขณะที่กำลังเดินเครื่องยนต์อยู่ ก็เป็นอีกระบบนึงที่มีหลักการทำงานคล้ายกับคอมของแอร์บ้าน แต่เราจะไม่พูดถึง เนื่องจากเอ็นทีแอร์เราเป็นร้านแอร์รับซ่อมแอร์บ้าน และรับซ่อมคอมเพรสเซอร์แอร์บ้านนะครับ

วงจรการทำงานของระบบแอร์รถยนต์

 

 

Google

Search

Contact

ติดต่อ ล้างแอร์ ขายแอร์

NT.AIR ENGINEERING
บริการแอร์บ้าน ล้างแอร์ ซ่อมแอร์
ขายแอร์ ปลีก-ส่ง ราคาถูก

40/578 ซ.นวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230  โทร.02-946-7632 แฟกซ์.02-946-8793

-->