หน้าที่คอมเพรสเซอร์
คอมเพรสเซอร์ (Compressor) ในระบบของแอร์หรือเครื่องปรับอากาศ หมายถึงเครื่องอัดน้ำยา หรือตัวปั๊มน้ำยาแอร์นั่นเอง เป็นอุปกรณ์หลักที่สำคัญอันนึงของระบบเครื่องทำความเย็นซึี่งทำหน้าที่ทั้ง ดูด และ อัด น้ำยาแอร์ ในสถานะแก๊ส
ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยได้ให้ความหมายของคำศัพท์ทางวิชาการของคอมเพรสเซอร์ไว้ว่า "เครื่องอัดที่เป็นอุปกรณ์เพิ่มความดันของสารความเย็นที่อยู่ในสภาวะที่เป็นไอ"
โดยหลักการคือคอมเพรสเซอร์จะดูดน้ำยาแอร์ในสถานะที่เป็นฮีตแก๊สความดันต่ำและอุณหภูมิต่ำจากอีวาพอเรเตอร์ (หรือแผงคอยล์เย็น) ผ่านเข้ามาทางท่อซัคชั่น (Suction) เข้าไปยังทางดูดของคอมเพรสเซอร์ แล้วอัดแก๊สนี้ให้มีความดันสูงขึ้นและอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย ส่งเข้าไปยังคอนเดนเซอร์ (แผงคอยล์ร้อน) โดยผ่านทางท่อดิสชาร์จ เพื่อไปกลั่นตัวเป็นของเหลวในคอนเดนเซอร์ด้วยการระบายความร้อนออกจากน้ำยาอีกทีนึง
จะเห็นได้ว่าในวงจรเครื่องทำความเย็น คอมเพรสเซอร์เป็นอุปกรณ์ที่แบ่งความดันในระบบระหว่างด้านความดันสูงและความดันต่ำ น้ำยาแอร์ที่ถูกดูดเข้ามาในคอมเพรสเซอร์จะมีสถานะเป็นแก๊สความดันต่ำ และน้ำยาที่อัดส่งจากคอมเพรสเซอร์จะมีสถานะเป็นแก๊สซึ่งมีความดันสูง หลังการล้างแอร์ ช่างล้างแอร์หรือช่างซ่อมแอร์ต้องตรวจดูน้ำยาแอร์ของลูกค้าว่าน้ำยาแอร์พร่องหรือไม่ บางคนคิดว่าน้ำยาแอร์มีสภาพเป็นน้ำหรือของเหลว แต่จริงๆ มันเป็นสารเคมีที่กลายสภาพได้ตามกำลังอัด และสามารถรั่วซึมได้ทั้งตามวาวล์ศร (จุกที่เติมน้ำยา) หรือข้อต่อบานแฟร์ได้ครับ ระบบแอร์ไม่ใช่ระบบปิดที่น้ำยาจะรั่วออกไม่ได้นะครับ อย่าเข้าใจกันผิด
บางทีเคยได้ยินคำว่า มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ บ้างมั้ยครับ เนื่องจากคอมเพรสเซอร์ของตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศตามบ้านเรือน จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน (ก็อยู่ภายในลูกคอมนั่นแหล่ะ) บางครั้งช่างสมัยก่อนจึงเรียกรวมกันว่า มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นความหมายเดียวกันกับคอมเพรสเซอร์แอร์นั่นแหล่ะครับ
ส่วนคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศรถยนต์ จะยึดติดอยู่กับเครื่องยนต์และถูกขับเคลื่อนโดยสายพาน ซึ่งจะมีแมกเนติกคลัตช์ช่วยควบคุมและหยุดคอมเพรสเซอร์ในขณะที่กำลังเดินเครื่องยนต์อยู่ ก็เป็นอีกระบบนึงที่มีหลักการทำงานคล้ายกับคอมของแอร์บ้าน แต่เราจะไม่พูดถึง เนื่องจากเอ็นทีแอร์เราเป็นร้านแอร์รับซ่อมแอร์บ้าน และรับซ่อมคอมเพรสเซอร์แอร์บ้านนะครับ
ฮิต: 44041